แนวทางทั่วไป ซ่อมวงจรอิเล็กทรอนิกส์    พื้นฐานการซ่อมบอร์ด

การซ่อมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์อย่างน้อยที่สุดต้องมี   5  ข้อต่อไปนี้  ลองเช็คว่ายังขาดส่วนไหนเช่นยังวัดอุปกรณ์ดีเสียไม่เป็น.....ก็สามารถเรียนรู้เพิ่มได้ตลอดเวลาเพื่อเติมเต็มในส่วนที่ยังขาดอยู่      

 1)  พื้นฐานการใช้งานมัลติมิเตอร์เพื่อวัดไฟตามจุดต่างๆ และใช้วัดสภาพอุปกรณ์ว่าดีหรือเสีย                   2) ต้องรู้วงจรไฟฟ้าเบื้องต้น  วงจรอนุกรม  วงจรขนาน ไฟ AC  ไฟ  DC  ความหมายของคำว่า ไฟฟ้าลัดวงจร ไฟฟ้าช๊อตและการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า  เป็นต้น  เพื่อให้ปฏิบัติงานซ่อมได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งงานที่ซ่อมเสร็จนอกจากวงจรจะต้องทำงานได้ปกติแล้วยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของวงจรด้วย เช่น สายไฟหลุดแล้วต้องไม่ซ๊อตกัน  กรณีวงจรทำงานผิดปกติมีกระแสเกินแล้ววงจรต้องตัดการทำงานด้วยอุปกรณ์ป้องกันกระแสเกิน   เป็นต้น                                                                                                     3)  รู้จักอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้นและหลักการทำงานของมัน  เช่น  ฟิวส์   รีเลย์  ตัวต้านทาน  ตัวเก็บประจุ  หม้อแปลงไฟฟ้า  ลำโพง  ไดโอด   ทรานซิสเตอร์   เป็นต้น  การรู้หลักการทำงานของมันทำให้สามารถไล่วงจรอิเล็กทรอนิกส์และหาอะไหล่แทนได้                                                                       4)  รู้จักวงจรพื้นฐานต่างๆ เริ่มจากหัดไล่วงจรง่ายๆก่อน หนังสือจำพวกโครงงานต่างๆจะแนะนำให้หัดไล่วงจรและการทำงานของวงจรพื้นฐานได้เป็นอย่างดี                                                                                     5)  ทักษะพื้นฐาน เช่น การใช้หัวแร้งบัดกรี  การอ่านค่าอุปกรณ์เป็น  เป็นต้น


ซ่อมวงจรอิเล็กทรอนิกส์     พื้นฐานการซ่อมบอร์ด


การซ่อมให้เริ่มดูจากอาการเสียก่อนและไล่เช็คแผงวงจรไปที่ละจุดแบบ  1-2-3-4  มีแนวทางทั่วไปสำหรับซ่อมวงจรอิเล็กทรอนิกส์เป็นข้อๆต่อไปนี้    เพื่อประหยัดเวลาซ่อมและงานซ่อมออกเยอะๆให้มุ่งไปที่อุปกรณ์ที่มีโอกาสเสียง่ายก่อน  ให้เช็คจุดต่างๆดังนี้ 

1.  จุดเชื่อมต่อและเส้นทางไหลของกระแสไฟฟ้า  เช่น สายไฟ  คอนเนกเตอร์  ขั้วต่อ ลายวงจรขาด ทั้งในส่วนของพาวเวอร์ และ   ส่วนเส้นทางของสัญญาณ

2. อุปกรณ์ที่มีกลไกการเคลื่อนที่  เช่น  รีเลย์  สวิตช์ชนิดต่างๆ  สวิตช์ทุกชนิดมีอายุการใช้งาน  ลองเช็คดูว่ามันเสียไหมหรือปกติดี  ?  ลองกดเปิดปิดแล้วเช็คสถานะของคอนแทคมันเปลี่ยนตามการกดหรือไม่  ?

3. อุปกรณ์พาวเวอร์มีโอกาสเสียสูง  สังเกตง่ายๆมันเป็นอุปกรณ์ตัวใหญ่มีกระแสไหลผ่านสูง เช่น ทรานซิสเตอร์  มอสเฟต  SCR  ไดโอด  เป็นต้น อีกทั้ง IC ก็มีโอกาสเสียรองลงมา  อุปกรณ์พาวเวอร์ชอบเสียในลักษณะช๊อตหรือขาด การวัดดีเสียแบบไร้กระบวนท่าคือวัดแล้วขึ้นสุดสเกลทั้ง 2 ครั้งหรือได้ 0 โอห์มตลอดคือซ๊อตแล้ว การวัดทรานซิสเตอร์ใช้ Rx1K สุ่มวัดขาต่างๆแล้วเข็มไม่ขึ้นเลยสักครั้งคือมันขาดแล้ว ( ปกติการวัดทรานซิสเตอร์ถ้ามันดีตรงขา B-E กับขา  B-C จะวัดขึ้น 1 ครั้งและวัดไม่ขึ้น 1 ครั้ง ) ที่ท้ายบทความจะอธิบายการวัดทรานซิสเตอร์แบบสุ่มอีกรอบ

4. อุปกรณ์ป้องกันก็มีโอกาสเสียสูง   เมื่อวงจรทำงานผิดปกติเนื่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น มีกระแสเกิน แรงดันเกิน  อุปกรณ์ป้องกันมีหน้าที่เป็นด่านแรกที่จะป้องกันและเสียลละตัวเอง ตัดวงจรออกก่อนที่ส่วนอื่นๆจะเสียหาย  กลุ่มอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ป้องกัน เช่น   ฟิวส์    ซีเนอร์ไดโอด   วาริสเตอร์ ( MOV ) เป็นต้น

5. ใช้วงจร ( Manual) และคู่มือซ่อมให้เป็นประโยชน์  ถึงแม้วงจรพื้นฐานประเภทเดียวกันจะมีหลักการทำงานกว้างๆเหมือนกัน แต่ผู้ผลิตวงจรแต่ละรายมีเทคนิคและคิดค้นพัฒนาวงจรมาไม่เหมือนกันทีเดียว มีรายละเอียดปลีกย่อยและ วงจรที่ซับซ้อนต้องใช้วงจรประกอบการซ่อมและไล่เป็นบล๊อคไดอะแกรมไป หลายครั้งพบว่าผู้ผลิตอุปกรณ์มีคู่มืออุปกรณ์ให้พร้อมกับแนะนำวิธีแก้ปัญหาเมื่อวงจรเสียแบบต่างๆ   สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์สูงผ่านการซ่อมมาเยอะก็สามารถจำวงจรหลักและอาการเสียของยี่ห้อต่างๆได้เลยทีเดียว เราก็สามารถเรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์สูงได้  ส่วนตัวเราเองจะมีประสบการณ์ได้ต้องซ่อมเยอะๆเพื่อให้เจอเคสต่างๆเยอะๆเมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่งเราก็จะกลายเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูงได้เช่นกัน   " ก่อนซ่อมอุปกรณ์ต่างๆ ต้องรู้จักหลักการทำงานและวงจรเบื้องต้นของมันก่อน " 



หนังสือ ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า
                                          หนังสือ  ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านด้วยตัวเอง

ช่างอิเล็กทรอนิกส์ก็สามารถซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ไม่ยากเพราะช่างอิเล็กทรอนิกส์มีพื้นฐานการใช้มัลติมิเตอร์ที่ดีมาก  เข้าใจวงจรไฟฟ้าเบื้องต้น และ รู้จักอุปกรณ์และวัดอุปกรณ์ดีเสียเป็น เรียนรู้หลักการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มอีกนิดก็จะซ่อมได้   หนังสือเล่มนี้ใช้ชื่อหนังสือค้นใน Google  " ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านด้วยตัวเอง "  ก็จะเจอในร้านออนไลน์และร้านหนังสือใหญ่ๆ และห้องสมุดบางแห่งอาจจะมี


การวัดอุปกรณ์ในบอร์ด

การวัดอุปกรณ์มีทั้งตัวที่สามารถวัดในวงจรเพื่อเช็คดีเสียเบื้องต้นได้ และ บางตัวต้องถอดออกมาวัดนอกวงจรหรือต้องลอยขาอุปกรณ์หนึ่งข้างก่อนจึงจะวัดได้  อีกหนึ่งวิธีที่นิยมทำกันก็คือวัดเปรียบเทียบกันสมมุติว่าในบอร์ดมีทรานซิสเตอร์เบอร์เดียวกันหลายตัวก็ให้วัดเทียบค่าความต้านทาน

1. อุปกรณ์ที่สามารถวัดในวงจรคร่าวๆเพื่อเช็คว่าดีหรือเสีย โดยไม่ต้องถอดออกจากวงจร ( แต่ต้องถอดปลั๊กก่อนวัดทุกครั้งหรือวัดในขณะที่ไม่มีไฟ )    มีตัวต้านทาน   LED   ไดโอด  ลำโพง  บัซเซอร์  เป็นต้น

2. อาการเสียของตัวต้านทาน  ตัวต้านทานปรับค่าได้หรือวอลุ่มผงคาร์บอนข้างในมักจะสึกกร่อนทำให้สัญญาณสะดุดไม่ต่อเนื่องได้เวลาเปลี่ยนมันแล้ว  ตัวต้านทานไวร์วาวเส้นลวดมักจะขาดวัดแล้วเข็มไม่ขึ้นเลยเนื่องจากมันเป็นอุปกรณ์ที่เรียกว่า Power Resistor มักจะเสียในลักษณะขาด   ตัวต้านทานชนิดอื่นๆมักจะขาดและยืดค่า กรณีค่าความต้านทานยืดค่านี้ทำให้กระแสและแรงดันในวงจรเปลี่ยนไปและทำให้จุดทำงานจุดไบบัสของวงจรเปลี่ยนไปด้วยผลคือวงจรอาจทำงานผิดปกติ

3. เมื่อใช้ย่านวัดตัวต้านทาน ( Ohm Meter ) รวมทั้งย่านวัดความต่อเนื่อง ( ย่านวัดเสียง)  วัดอุปกรณ์ต่างๆในบอร์ด  ต้องวัดขณะที่ไม่มีไฟอยู่  ให้ตัดไฟหรือถอดปลั๊กก่อนทุกครั้ง เนื่องจากย่านวัดตัวต้านทานใช้ไฟจากแบตเตอร์รี่ข้างใน  ระบบไฟจะชนกันและหลักการทำงานมันขัดแย้งกันทำให้มิเตอร์พังและวัดเพี้ยนได้

4. เช็คดูย่านวัดให้ดีก่อนวัดว่าใช้ย่านวัดถูกต้องไหม  ?    ห้ามตั้งย่านวัดแรงดันแล้วไปวัดกระแส  ห้ามตั้งย่านวัดกระแสแล้วไปวัดแรงดันเพราะมิเตอร์จะพังทันที เนื่องจากหลักการทำงานของแต่ละย่านวัดไม่เหมือนกันการตั้งย่านวัดผิดคือใช้งานวงจรผิดประเภทมันขัดแย้งกับหน้าที่วงจรที่ออกแบบไว้    กรณีตั้งย่านวัดผิดมัลติมิเตอร์ดิจิตอลบางรุ่นมีอุปกรณ์ป้องกันก็ดีไปและมัลติมิเตอร์ที่ไม่มีวงจรป้องกันก็จะพัง การซ่อมมัลติมิเตอร์ถึงแม้จะซ่อมได้แต่มันจะไม่เหมือนเดิมเพราะมันเป็นเครื่องมือวัดละเอียดต้องมีการคาลิเบตเพื่อให้ได้ค่าการวัดที่เที่ยงตรงและถูกต้อง การคาลิเบตต้องให้โรงงานผลิตหรือศูนย์รับคาลิเบตเครื่องมือวัดโดยเฉพาะเป็นผู้ปรับค่า

5. คาปาซิเตอร์ไฮล์โวลต์และคาปาซิเตอร์ตัวใหญ่ให้คิดไว้ก่อนว่ามีไฟค้างแน่ๆ  ให้ใช้โวลต์มิเตอร์วัดไฟดูก่อนว่ามีไฟค้างไหม  กรณีมีไฟค้างต้องดิสชาร์จก่อน


แนวทางการสุ่มวัดทรานซิสเตอร์
                                               แนวทางการสุ่มวัดทรานซิสเตอร์โดยไม่ต้องสนใจขา

แนวทางการสุ่มวัดทรานซิสเตอร์ ถ้าทรานซิสเตอร์ดีเมื่อใช้มัลติมิเตอร์แบบเข็มย่านวัด  Rx1K วัดขา B กับ E  และวัดขา  B กับ C  เข็มต้องขึ้น 1 ครั้งและไม่ขึ้น 1 ครั้ง  จะเป็นลักษณะนี้ถ้าทรานซิสเตอร์ดี ( โดยไม่ต้องสนใจขา )  ถ้าสุ่มวัดขาต่างๆแล้วเข็มไม่ขึ้นเลยไม่มีการเคลื่อนของเข็มเลยคือเสียลักษณะขาดแล้ว   ถ้าสุ่มวัดขาต่างๆแล้วเข็มขึ้นสุดสเกลตลอดคือเสียลักษณะช๊อตแล้ว



เลือกหัวข้อต่อไปนี้   เพื่ออ่านต่อ    
เช่น   การวัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์   มี   17  ตอน



การวัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตอน วิธีวัดทรานซิสเตอร์ ดีเสีย หาขา หาชนิด NPN PNP ด้วยมิเตอร์เข็ม ( การวัด Transistor )

 ประเด็นการวัดทรานซิสเตอร์พื้นฐานคือวัดดีเสีย  วัดหาขา B-C-E  และ วัดหาชนิด NPN / PNP ก่อนวัดต้องเข้าใจว่าขั้วไฟจากสายวัดของมัลติเตอร์แบบเข็มนั้นจะแตกต่างจากขั้วไฟสายวัดของมัลติเตอร์แบบดิจิตอล ถ้าไม่เข้าใจประเด็นนี้ทำให้งงและจำวิธีวัดไม่ได้  ถ้าเข้าใจจะวัดเป็นและจำได้ตลอดกาล   ให้จำไว้ว่าสายวัดสีแดงของมัลติมิเตอร์แบบเข็มมีไฟขั้ว - จ่ายออกมา และสายวัดสีดำมีไฟขั้ว + จ่ายออกมาที่เป็นแบบนี้เพราะเนื่องจากวงจรข้างในของมัลติมิเตอร์แบบเข็มสายวัดจะต่ออยู่กับแบตเตอรี่ข้างในเมื่อใช้ย่านวัดตัวต้านทานจะมีไฟจ่ายออกมา    ปกติแล้วการวัดทรานซิสเตอร์จะให้ย่านวัด Rx10 มีไฟจ่ายออกมา 3VDC 15mA  , Rx1K  มีไฟจ่ายออกมา 3VDC 15uA และ  Rx10K มีไฟจ่ายออกมา 9VDC  ไฟที่จ่ายออกมาและขั้วไฟจากสายวัดใช้ไบอัสทรานซิสเตอร์และใช้อธิบายว่าทำไมเข็มของมัลติมิเตอร์จึงขึ้นหรือเข็มไม่ขึ้น ( กระแสไหลและกระแสไม่ไหลนั่นเอง )

ขั้นตอนต่อไปนี้จำเป็นสำหรับมือใหม่ต้องวัดเป็นและวัดแบบเข้าใจก่อน  สำหรับคนที่วัดชำนาญแล้วจะวัดแบบสุ่มไปเลย   ทรานซิสเตอร์ที่เสียส่วนใหญ่คือขาดและซ๊อต ถ้าขาดวัดสลับสายสลับขาอย่างไรก็ตามเข็มจะไม่ขึ้นเลย ถ้าซ๊อตวัดสลับสายสลับขาอย่างไรก็ตามเข็มจะขึ้นสุดสเกลได้ค่าความต้านต่ำมาก นี้คือการวัดแบบสุ่มโดยมุ่งไปที่การเสียแบบขาดกับเสียแบบซ๊อต


ການວັດ  Transistor
                                           สายวัดสีแดงจ่ายไฟ -  และสายวัดสีดำจ่ายไฟ  +


มองทรานซิสเตอร์เป็นไดโอด 2 

เพื่อให้เข้าใจการวัดทรานซิสเตอร์ง่ายๆให้มองทรานซิสเตอร์เป็นไดโอด  2 ตัวต่อกัน โดยทรานซิสเตอร์ชนิด NPN = ไดโอด 2 ตัวต่อคอมมอนแอโนด และ  ทรานซิสเตอร์ชนิด PNP  = ไดโอด 2 ตัวต่อคอมมอนแคโทด  จะใช้โมเดลไดโอด 2 ตัวนี้วัดทรานซิสเตอร์จริงในขั้นตอนต่อไป




                        ทรานซิสเตอร์ชนิด NPN = ไดโอด 2 ตัวต่อคอมมอนแอโนด


                          ทรานซิสเตอร์ชนิด PNP  = ไดโอด 2 ตัวต่อคอมมอนแคโทด

Transistor test
                              ใช้ทรานซิสเตอร์เบอร์    2N3904   ในการวัดสาธิต


ขั้นตอนวัดวัดทรานซิสเตอร์

ใช้ทรานซิสเตอร์เบอร์    2N3904   ในการวัดสาธิตเบอร์นี้มีตำเหน่งขาเรียงตามรูปด้านบนกรณีเป็นทรานซิสเตอร์เบอร์อื่นๆก็ให้ค้นหาตำเหน่งขาจาก Datasheet 

1. วัดขา B กับขา E และวัดขา B กับขา C  

ใช้มิเตอร์ย่านวัด Rx10 และปรับซีโรโอห์มก่อนวัดเพื่อให้ผลการวัดถูกต้อง

2. ให้วัดและสลับสายวัด พิจารณาผลดังนี้ถ้าทรานซิสเตอร์ดีเข็มจะขึ้นมาก 1 ครั้งและเข็มไม่ขึ้น 1 ครั้ง

เสียลักษณะขาดวัดแล้วเข็มไม่ขึ้นเลย เสียลักษณะช๊อตวัดแล้วเข็มขึ้นสุดสเกล


ການວັດ  Transistor  test
                        วัดขา B กับขา E ขา B อยู่ตรงกลาง   สายวัดสีดำจ่ายไฟ +  ( ชนิด NPN)
จากโมเดลไดโอด 2 ตัวด้านบนเข็มขึ้นเพราะไดโอดได้รับไบอัสตรง


Transistor test
                       วัดขา B กับขา C  ขา B อยู่ตรงกลาง   สายวัดสีดำจ่ายไฟ +  ( ชนิด NPN)
จากโมเดลไดโอด 2 ตัวด้านบนเข็มขึ้นเพราะไดโอดได้รับไบอัสตรง


Transistor test

 สลับสายวัด   วัดขา B กับขา E ขา B อยู่ตรงกลาง   สายวัดสีดำจ่ายไฟ +  ( ชนิด NPN)
จากโมเดลไดโอด 2 ตัวด้านบนเข็มไม่ขึ้นเพราะไดโอดได้รับไบอัสกลับ



Transistor test

 สลับสายวัด   วัดขา B กับขา C  ขา B อยู่ตรงกลาง   สายวัดสีดำจ่ายไฟ +  ( ชนิด NPN)
จากโมเดลไดโอด 2 ตัวด้านบนเข็มไม่ขึ้นเพราะไดโอดได้รับไบอัสกลับ


3. วัดขา C กับขา E  ให้วัดและสลับสายวัด
ใช้ Rx10K สำหรับทรานซิสเตอร์ชนิดซิลิกอน  และ Rx1K  สำหรับเจอร์เมเนียม
ถ้าทรานซิสเตอร์ดีเข็มขึ้นมาก 1 ครั้ง และเข็มไม่ขึ้น 1 ครั้ง ( หรือขึ้นน้อยก็ได้)
เสียลักษณะขาดวัดแล้วเข็มไม่ขึ้นเลยสักครั้ง  เสียลักษณะช๊อตวัดแล้วเข็มขึ้นสุดสเกลทั้ง 2 ครั้ง


ການວັດ  Transistor  test
                                                        วัดขา C กับขา E เข็มขึ้นมาก 1 ครั้ง  


Transistor test
               สลับสายวัด   วัดขา C กับขา E เข็มไม่ขึ้น 1 ครั้ง  ( อาจขึ้นน้อยชี้ใกล้แถว ∞ )




การวัดหาขา  B-C-E   ของทรานซิสเตอร์
1. การวัดหาขา B    ให้ใช้  R x 10 สุ่มวัดจะเจอครั้งที่เข็มขึ้นมาก 2 ครั้ง  ตรงจุดนี้คือคอมมอนของไดโอด
พิจารณารูปด้านล่างจะทราบทั้งชนิดของทรานซิสเตอร์และตำเหน่งของขา  B




สายวัดสีดำมีขั้วไฟ + ดังนั้นเป็นทรานซิสเตอร์ชนิด NPN  สายสีดำคือขา B 
วัดแล้วเข็มขึ้นเพราะไดโอดได้รับไออัสตรง



สายวัดสีแดงมีขั้วไฟ - ดังนั้นเป็นทรานซิสเตอร์ชนิด PNP สายสีแดงคือขา B  
วัดแล้วเข็มขึ้นเพราะไดโอดได้รับไออัสตรง

2. วัดหาขา C และขา  E
หลังจากได้ขา B เรียบร้อยแล้ว 2 ขาที่เหลือคือขา C และขา E นอกจากทราบขา B แล้วยังทราบชนิดของทรานซิสเตอร์ด้วย
ใช้ย่านวัด  Rx10K วัด หาขา C และขา   E
วัดและสลับสายวัด ให้พิจารณาครั้งที่เข็มมิเตอร์ขึ้นมาก
ถ้าเป็นทรานซิสเตอร์ชนิด NPN  สายวัดสีแดง ( ขั้วไฟ -)  คือขา C  (ข้อสังเกตุให้จำตรง NNคือขา C)
ถ้าเป็นทรานซิสเตอร์ชนิด PNP  สายวัดสีดำ  ( ขั้วไฟ +)  คือขา C (ข้อสังเกตุให้จำตรง PP คือขา C )



ให้สังเกตทรานซิสเตอร์ชนิด NPN  สายวัดสีแดง ( ขั้วไฟ -)  คือขา C  (ข้อสังเกตุให้จำตรง NNคือขา C)

                                                          วัดขา C และ E ครั้งที่เข็มไม่ขึ้น


                                    ทรานซิสเตอร์ชนิด  NPN  ให้สังเกต NN  คือ  - 
                                    ขั้วไฟลบคือสายสีแดง  ดั้งนั้นสายสีแดงเป็นขา C


                                           ทรานซิสเตอร์ชนิด  NPN เบอร์    2N3904





ให้สังเกตทรานซิสเตอร์ชนิด PNP  สายวัดสีดำ  ( ขั้วไฟ +)  คือขา C (ข้อสังเกตุให้จำตรง PP คือขา C )
ดูครั้งที่เข็มขึ้นมาก  พิจารณา  3 รูปด้านล่างนี้

                                                        วัดขา C และ E ครั้งที่เข็มไม่ขึ้น


                                     ทรานซิสเตอร์ชนิด  PNP  ให้สังเกต PP  คือ  + 
                                    ขั้วไฟบวกคือสายสีดำ  ดั้งนั้นสายสีดำเป็นขา C




                                           ทรานซิสเตอร์ชนิด  PNP   เบอร์    2N3906




เลือกหัวข้อต่อไปนี้    เพื่ออ่านต่อ    
เช่น   การวัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์   มี  17 ตอน

การวัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตอน วิธีวัดเอสซีอาร์ SCR ด้วย มัลติมิเตอร์ดิจิตอล และ มัลติมิเตอร์แบบเข็ม วัด SCR ด้วยการทริกขาเกต

การวัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์   วัดเอสซีอาร์  SCR   мультиметр   मल्टीमीटर   đồng hồ vạn năng


ก่อนวัด SCR  มารู้จักชื่อขาและสัญลักษณ์ของเอสซีอาร์    SCR มี 3 ขาคือขาแอโอด ( Anode ) ใช้สัญลักษณ์ A   ,  ขาแคโทด  ( Kathode)ใช้สัญลักษณ์ K  ขาเกต ( Gate ) ใช้สัญลักษณ์ G  SCR มีหลายเบอร์มากและมีผู้ผลิตหลายแหล่งแต่ละเบอร์อาจมีการเรียงตำเหน่งขาไม่เหมือนกัน เบอร์ที่ใช้วัดสาธิตใช้เบอร์ C106MG  มีการเรียงขา  K  A   G  ตามรูปด้านล่าง

ขา   SCR
                                     ขา   SCR  เบอร์  C106MG    ขา  1 =   K  , 2 =   A   , 3 =    G 




                                                   สัญลักษณ์  เอสซีอาร์  ใช้ประกอบการวัด


วัด   SCR ด้วย มัลติมิเตอร์ดิจิตอล 

ใช้ย่านวัดโอห์มในการวัด SCR ที่ดีจะวัดขึ้นค่าความต้านทาน 1 ครั้งคือครั้งที่วัดขา G และ K     SCR เสียถ้าขาดจะวัดค่าความต้านทานไม่ขึ้นเลยสักครั้ง  ถ้าเสียซ๊อตจะขึ้นค่าความต้านทาน 0 Ohm หรือขึ้นความต้านทานต่ำมากๆ

1)  วัดขา G กับ  K  ตามรูป SCR ดีจะขึ้นค่าความต้านทาน 1 ครั้ง จากนั้นสลับสายวัดจะขึ้น OL  1 ครั้ง

การวัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  วัดเอสซีอาร์  SCR   ການວັດ   SCR
                                    วัดขา G และ K     SCR ที่ดีจะวัดขึ้นค่าความต้านทาน 1 ครั้ง 

วัด  SCR    test
                                      สลับสายวัดขา G  และ  K     SCR ที่ดีจะขึ้น  OL  1  ครั้ง 


2.  วัดขา A   กับ  K  และสลับสายวัดอีกครั้ง  SCR ที่ดีจะแสดง OL ทั้ง 2  ครั้ง  ถ้าเสียซ๊อตจะขึ้นค่าความต้านทาน 0 Ohm หรือขึ้นความต้านทานต่ำมาก

SCR test

                                         วัดขา A   กับ  K    SCR ที่ดีจะแสดง  OL ทั้ง 2  ครั้ง 


SCR  Test
                                    สลับสายวัด วัดขา A   กับ  K   SCR ที่ดีจะแสดง  OL 



ขั้นตอนวัด SCR ด้วยมัลติมิเตอร์แบบเข็ม
หลักการทำงานเบื้องต้นของ SCR คือเมื่อขา A ได้รับไฟ + และขา K ได้รับไฟ -   เมื่อขาเกตได้รับกระแสทริกบวก  SCR จะนำกระแสจากแอโนดไปแคโทด  ในการวัดใช้ย่านวัด Rx 1

1. วัดขา G กับ K  SCR ที่ดีเข็มจะขึ้นมาก  1 ครั้งและเข็มไม่ขึ้น 1 ครั้ง  กรณีเสียซ๊อตเข็มจะขึ้นมากสุดสเกลทั้ง 2 ครั้ง กรณีเสียขาดจะวัดไม่ขึ้นเลย

การวัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  SCR Test   мультиметр   मल्टीमीटर   đồng hồ vạn năng
                                             รูปแสดง   วัดขา G กับ K  SCR ที่ดีเข็มจะขึ้นมาก  1 ครั้ง

                               รูปแสดง  สลับสายวัด วัดขา G กับ K  SCR ที่ดีเข็มจะไม่ขึ้น   1 ครั้ง


2. วัดขา A กับขา K  จากนั้นสลับสายวัด วัดอีกครั้ง  SCR ที่ดีเข็มไม่ขึ้นเลยทั้ง 2 ครั้ง  กรณีเสียซ๊อตเข็มจะขึ้นมากสุดสเกลทั้ง 2 ครั้ง

                                        รูปแสดง   วัดขา A  กับขา K    SCR ที่ดีเข็มไม่ขึ้นเลยทั้ง 2 ครั้ง

การวัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  SCR  test
                        รูปแสดง   สลับสายวัด วัดขา A  กับขา K    SCR ที่ดีเข็มไม่ขึ้นเลยทั้ง 2 ครั้ง



วัด SCR ด้วยการทริกขาเกต
ที่ย่านวัด R x 1  จะมีไฟ 3VDC  150mA จ่ายออกจากสายวัด จากหลักการทำงานเบื้องต้นของ SCR คือเมือขา A ได้รับไฟ + และขา K ได้รับไฟ -   เมื่อขาเกตได้รับกระแสทริกบวก  SCR จะนำกระแสจากแอโนดไปแคโทด จะใช้หลักการนี้นำไปทริกขา G เพื่อทดสอบการนำกระแสของ SCR ว่าสามารถนำกระแสได้ตามปกติหรือไม่  ?   ถ้าสามารถนำกระแสได้ตามปกติคือ SCR ยังดีนั่นคือ สามารถนำกระแสและหยุดนำกระแสได้  ดูรูปตามลำดับต่อไปนี้


   ต่อสายวัดตามรูป ขา K กับสายวัดสีแดง ( สายสีแดงจ่ายไฟ  - )
   ขา  A ต่อสายวัดสีดำ ( สายสีดำจ่ายไฟ  + )



                                        ทริกขา G ด้วยไฟ +   จากขา A   ( สายวัดสีดำ )



мультиметр   मल्टीमीटर   đồng hồ vạn năng
               เมื่อเอาไฟ + ที่ทริกขา G ออก  SCR ยังคงสามารถนำกระแสค้างได้ คือ SCR ดี



SCR  Test
                                        ให้ SCR หยุดนำกระแส โดยแตะขา A และ K เข้าด้วยกัน



            ให้ SCR หยุดนำกระแส โดยแตะขา A และ K เข้าด้วยกัน รูปแสดง SCR หยุดนำกระแส




เลือกหัวข้อต่อไปนี้   เพื่ออ่านต่อ    
เช่น   การวัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์   มี   17  ตอน

เรียนอาชีวะดีไหม เรียนเทคนิคและสายอาชีพ สายช่างดีไหม และข้อมูลควรรู้ก่อนเรียน

การเรียนอาชีวะเป็นการเรียนสายอาชีพซึ่งมุ่งฝึกทักษะอาชีพเฉพาะทาง มีข้อดีหลายอย่างและก็มีข้อควรพิจารณาที่ควรรู้ก่อนเลือกเรียนด้วย  หลังจากอ่านบทความนี้จะทราบถึงข้อดีและข้อควรรู้ก่อนเลือกเรียนสายอาชีวะ    ข้อมูลในบทความนี้เป็นการบอกเล่าจากประสบการณ์ตรงที่ผ่านการเรียนอาชีวะสาขาช่างมาจากวิทยาลัยเทคนิคแห่งหนึ่งและข้อมูลในบทความนี้ทุกคนสามารถพิจารณาตามได้ว่ามันมีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน    คนเรียนสายอาชีวะสามารถประสบความสำเร็จ ประกอบอาชีพส่วนตัวและเรียนต่อในระดับปริญญาได้โดยมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งเปิดรับคนเรียนจบสายอาชีวะให้เรียนต่อระดับสูงขึ้นกรณีต้องการเรียนต่อระดับปริญญา       มีวีดีโอในยูทูปจำนวนมากที่พูดถึงปัญหาการว่างงานและยังแนะนำทางออกให้ปัญหานี้คือให้คนเลือกเรียนสายเทคโนโลยี   สายอาชีวะ/สายช่าง และ สายวิทยาศาสตร์   เนื่องจากตำเหน่งงานจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรม การค้าและการบริการต่างๆ  ต้องการคนที่เรียนจบสาขาเหล่านี้


เรียนอาชีวะ  เรียนเทคนิค  สายอาชีพ  ดีไหม




ข้อดีของการเรียนอาชีวะ / สายอาชีพ

1)  ข้อดีของการเรียนสายอาชีพคือเป็นการเรียนที่มุ่งเน้นฝึกทักษะวิชาชีพที่ใช้ในการทำงานจริง  ทำให้มีความพร้อมในการทำงานสูงเมื่อเรียนจบ
2)  มีความยืดหยุ่นสูงเรื่องระยะเวลาเรียน  คือ  จบ  ปวช  ปวส  ก็สามารถหางานก่อนถ้ามีความต้องการเรียนต่ออีกครั้งก็สามารถกลับมาเรียนต่อระดับปริญญาได้เมื่อพร้อม   ส่วนอีกกรณีคือจบ ปวช  และต้องการเรียนต่อปริญญาตรีรวดเดียวเลยก็ทำได้     จะเห็นว่าตรงนี้เป็นข้อดีของการเรียนสายอาชีวะคือมีความยืดหยุ่นสูงและหลายคนก็อาจต้องการความยืดหยุ่นนี้
3)  มีความเจาะจงต่อตำเหน่งงานสูง    สายอาชีวะมีจุดประสงค์การเรียนการสอนเพื่อทำงานและตอบโจทย์ตำเหน่งงานที่เจาะจงและชัดเจนตั้งแต่แรก  ยกตัวอย่างเช่น เรียนช่างไฟก็เพื่อไปประกอบอาชีพเป็นช่างไฟและอาชีพอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า   เช่น ทำกิจการส่วนตัวเกี่ยวกับอุปกรณ์ไฟฟ้า  การติดตั้งระบบไฟฟ้า   ดูแลระบบไฟฟ้า  ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า   ทำงานสายเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับไฟฟ้า   นอกจากนี้หลักสูตรช่างไฟฟ้าระดับ   ปวช   ปวส   ก็ยังมีการเรียนวิชาสามัญเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการต่อในระดับปริญญาตรีอีกด้วย



ข้อควรรู้และควรพิจารณาก่อนเลือกเรียนสายอาชีวะ 

   การเรียนอาชีวะคาบเวลาเรียนส่วนใหญ่จะเป็นวิชาชีพเฉพาะทาง อีกทั้งความสนใจของผู้เรียนและบรรยากาศการเรียนการสอนของวิทยาลัยก็จะมุ่งเน้นสอนและฝึกทักษะวิชาชีพเป็นลำดับแรก   ส่วนวิชาสามัญ( เช่น คณิต ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ )ก็จะมีการสอนโดยมีความเข้มข้นดีระดับหนึ่ง ( แต่ไม่เหมือนสาย ม. 6   เนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลาเรียนและบรรยากาศการเรียนด้วย ) มันเป็นธรรมชาติของการเรียนสายอาชีพที่จะเน้นเรียนและฝึกทักษะวิชาชีพเป็นหลัก   ส่วนวิชาสามัญอื่นๆจะมีการเรียนเท่าที่จำเป็นตามหลักสูตรกำหนด    ต่างจากสาย ม.6 จะมีคาบเวลาเรียนจำนวนมากและมุ่งเน้นเรียนวิชาสามัญอย่างเดียวแบบเข้มข้นทำให้มีความพร้อมสำหรับการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยสูงกว่า   โดยสาย ม. ุ6  จะได้บรรยากาศของการเรียนเพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัย ( แต่สาย ม.6 จะมีการแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยที่สูงมากจากนักเรียน  ม.ปลายทั่วประเทศ นี้อาจเป็นข้อควรพิจารณาของสาย  ม.6 )   โดยปกติบางสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยจะมีหลักสูตรที่รับคนเรียนจบสายอาชีวะมาเรียนต่อโดยเฉพาะและแยกจากสาย ม.6 เพื่อปรับวิชาเรียนให้ครบตามหลักสูตรของสาขาวิชานั้นๆกำหนดไว้   คนเรียนสายอาชีวะก็สามารถวางแผนการเรียนต่อในระดับสูงได้เช่นกันโดยต้องมีการเตรียมตัวเพื่อสอบและสำรวจว่าเส้นทางสายอาชีพที่เลือกเรียนอยู่นั้นถ้าต้องการเรียนต่อระดับสูงขึ้นไปอีกต้องไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอะไร   มีหลักสูตรอะไรให้เรียนต่อบ้าง   การสำรวจเส้นทางการเรียนและเส้นทางอาชีพนี้ต้องทำตั้งแต่ตอนแรกๆที่เลือกเรียน     ปัญหาการเตรียมตัววิชาสามัญ(  คณิต ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ )ให้พร้อมนี้ก็มีทางออกสำหรับสายอาชีวะ   ปัจจุบันมีหนังสือและคอร์สสอนออนไลน์จำนวนมากที่ติววิชา  ม.ต้น  ม.ปลายและติววิชาที่ใช้สอบวิศวะโดยเฉพาะ   คนที่สนใจก็สามารถเลือกเรียนเพิ่มเติมตามเวลาที่สะดวกเพื่อปูพื้นฐานวิชาสามัญให้แน่นและพร้อมสำหรับการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ไม่ยากเมื่อเทียบกับสมัยก่อน


สรุปการเรียนสายอาชีวะ / สายอาชีพมีข้อดีหลายข้อและข้อที่สำคัญคือมีความยืดหยุ่นสูงเรื่องระยะเวลาเรียน   การเรียนสายอาชีวะช่วยแก้ปัญหาคนเรียนปริญญาที่หลายสาขามีจำนวนคนเรียนมากเกินไป  ทำให้หางานทำยากเนื่องจากตลาดแรงงานไม่ได้ต้องการคนจบปริญญามากขนาดนั้น   กลับกันสาขาที่เปิดสอนในสถาบันอาชีวะส่วนใหญ่เป็นสาขาที่มีการจ้างงานจำนวนมากในภาคอุตสาหกรรม การค้าและการบริการที่ขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักของประเทศ  การเรียนสายอาชีวะก็ไม่ได้มีข้อดีไปหมดมันมีข้อควรพิจารณาด้วยซึ่งบทความนี้ได้แนะนำแนวทางแก้ปัญหานี้ไว้เแล้ว  บางอาชีพการเรียนระดับ ปวช ปวส ก็เพียงพอสำหรับการประกอบอาชีพได้แล้วไม่ต้องเสียเวลาเรียน 4-5 ปีในมหาวิทยาลัย  อีกทั้งปัจจุบันมีอาชีพใหม่ๆเกิดขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี   คนปัจจุบันนิยมเลือกเรียนตามความสนใจเฉพาะวิชาที่อยากเรียนและใช้เวลาเรียนไม่นานเกินไปด้วย


เลือกเรื่องถัดไปที่น่าสนใจอ่านต่อ  
เช่น  การวัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์   มี  17 ตอน

เรียนช่างอะไรดี ระหว่างเรียนไฟฟ้ากำลังหรือเรียนอิเล็กทรอนิกส์ดีไหม ตอนท้ายตอบคำถามการเรียนช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยากไหม

ตอบคำถามการเรียนช่างว่าจะเลือกเรียนไฟฟ้ากำลังหรือเรียนอิเล็กทรอนิกส์ดี    มีรูปและตารางประกอบช่วยให้เข้าใจง่าย อยู่ด้านล่าง  ตอนท้ายสุดเป็นการตอบคำถามเรียนช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยากไหม   ข้อมูลที่อยู่ใบบทความนี้เป็นประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเอง ผ่านการสมัครงาน  หางานและทำงานตามโรงงานมาก็หลายที่จนในที่สุดเมื่อหาประสบการณ์ในโลกกว้างเพียงพอแล้วปัจจุบันหันมาประกอบกิจการส่วนตัวเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่เรียน   จึงนำประสบการณ์และข้อมูลมาแบ่งปัน    ข้อดีของการเรียนช่างคือสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้มาทำงานตามบริษัทต่างๆ    โรงงานอุตสากรรม    ประกอบกิจการส่วนตัว   รับงานพิเศษระหว่างเรียน   ทำงาน DIY    ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆมาในอนาคตเราก็สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม  Up Skill  ได้เนื่องจากมีทักษะช่างพื้นฐานเป็นฐานเดิมอยู่แล้ว  สำหรับคนที่ต้องการเรียนต่อระดับสูงขึ้น ปัจจุบันก็มีมหาวิทยาลัยหลายที่เปิดสาขาให้เรียนต่อจนถึงระดับปริญญาตรี  โท  เอก  การเรียนช่างเป็นการนำความรู้+ทักษะไปใช้งานจริงและประยุกต์หลักการทางฟิสิกส์ / วิทยาศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ   ถึงแม้เราจะไม่ได้ทำงานตามโรงงาน/บริษัทต่างๆแล้วก็ตามแต่ความรู้และทักษะช่างที่มีอยู่นั้นสามารถนำไปต่อยอดได้อีกเยอะยกตัวอย่างเช่น ทำระบบ  Smart  Home   ,  Smart Farming   ใช้อุปกรณ์ IT   ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ     ดูแลระบบไฟฟ้าที่ผิดปกติให้บ้านตัวเอง  ให้เพื่อนบ้าน  ชุมชนและวัด  เป็นต้น และในอนาคตใกล้ๆนี้จะมีเรื่องรถไฟฟ้าและสิ่งที่เกียวข้องมาแน่นอน   พลังงานทดแทนแบบต่าง ๆ  ( เช่น โซลาร์เซลล์ )  อุปกรณ์   IOT  การสื่อสาร  5G  6G    เราก็จะเข้าใจเทคโนโลยีเหล่านี้และอยู่ในแทรนด์นี้ได้ไม่ยาก


เรียนช่างอะไรดี


เรียนไฟฟ้ากำลังหรือเรียนอิเล็กทรอนิกส์

วิเคราะห์เรียนไฟฟ้ากำลังหรือเรียนอิเล็กทรอนิกส์ดี    ?

       ไฟฟ้าเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่สำคัญมากเราจะขาดไฟฟ้าไม่ได้เลย   ระบบไฟฟ้าทีมีอยู่ปัจจุบันนี้ก็ต้องการช่างไฟฟ้าและวิศวกรไฟฟ้ามาดูแลให้มันใช้งานได้ปกติและปลอดภัยตามหลักการและมาตฐาน   ถ้าจะออกแบบระบบไฟฟ้าใหม่ ต่อเติมไฟก็ต้องให้วิศกรไฟฟ้ามาออกแบบให้    ทุกโรงงาน  ทุกตึกขนาดใหญ่  ศูนย์การค้าต่างๆ  อาคารพาณิชย์และออฟฟิศ  ล้วนต้องการช่างไฟฟ้ามาดูแลระบบไฟฟ้าให้ทั้งสิ้น  ลักษณะงานของช่างไฟฟ้า   เช่น  ไฟฟ้าแสงสว่าง  ระบบไฟฟ้าสำรอง    ดูแลระบบแอร์   ตู้เย็น   ตู้แช่สินค้าต่างๆ   ลิฟท์   บันไดเลื่อน  ระบบดับเพลิง   ปั้มน้ำ  ระบบความปลอดภัยในอาคาร  ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องกลไฟฟ้าต่างๆ   บางที่ช่างไฟฟ้าอาจต้องดูแลระบบประปาด้วย ดูแลระบบไฟฟ้ากำลังทั้งภายนอกอาคารและภายในอาคาร เพิ่มจุดเต้ารับเต้าเสียบ  ถ้าเป็นงานในโรงงานก็ดูแลระบบอัตโนมัติต่างๆที่ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนในไลน์การผลิต   ดูแลระบบไฟในสายพานการผลิต   โรงงานที่ทำเกี่ยวกับวงจรไฟฟ้า   เครื่องใช้ไฟฟ้า  บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ  ซอฟแวร์    ป้ายโฆษณา   นอกจากนี้สาขาไฟฟ้ากำลังยังไปเกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างและงานโยธาอีกทั้งภาครัฐและเอกชน    ดังนั้นปริมาณงานของสาขาไฟฟ้ากำลังจึงมีจำนวนงานมากโดยงานกระจายอยู่ทุกภาคอุตสาหกรรมทั้งโรงงาน อาคารพาณิชย์ต่างๆ  แม้กระทั้งตามบ้านเรือนทั่วไปต่างจังหวัดยังมีงานของไฟฟ้ากำลังให้ทำเยอะ   เรียนสาขาไฟฟ้ากำลังหางานง่ายเนื่องจากปริมาณงานในตลาดที่เยอะและงานแทรกอยู่ทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 


สาขาไฟฟ้ากำลัง  งานเสาไฟฟ้าแรงดันต่ำและแรงดันสูงเพื่อส่งพลังงานไฟฟ้าไปยังจุดต่างๆ



เรียนไฟฟ้ากำลังหรือเรียนอิเล็กทรอนิกส์
                       ตัวอย่าง  วงจรอิเล็กทรอนิกส์


      สาขาอิเล็กทรอนิกส์เป็นการเรียนเกี่ยวกับการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาต่อใช้งานเป็นวงจรต่างๆ   ขอบเขตของงานอิเล็กทรอนิกส์ที่แตกต่างจากสาขาไฟฟ้ากำลังคือ  อิเล็กทรอนิกส์เน้นเรียนเกี่ยวกับระบบภาพ  ระบบเสียง การขยายสัญญาณ  การสื่อสาร  การใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์  การเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมฮาร์ดแวร์    ไฟฟ้าพื้นฐานช่างอิเล็กทรอนิกส์ก็เรียนเหมือนกันกับช่างไฟฟ้ากำลังดังนั้นถ้าไฟฟ้าขัดข้องที่เป็นเรื่องไฟฟ้าพื้นฐานช่างอิเล็กทรอนิกส์ก็สามารถแก้ไขปัญหาทางไฟฟ้านี้ได้   ถ้าเป็นงานเมนไฟฟ้ากำลังที่เป็นงานนอกอาคาร เช่น  ปีนเสาไฟฟ้า ติดตั้งสายไฟนั้นเป็นงานเมนของช่างไฟฟ้ากำลัง งานระบบไฟแรงดันสูงแรงดันต่ำตามถนนต่างๆก็เป็นงานเมนของช่างไฟฟ้ากำลัง   ช่างอิเล็กทรอนิกส์เน้นเรียนและสามารถต่อยอดไปทาง  Smart  Home  , Smart  Farming เกษตรอัจฉริยะ  , อุปกรณ์ IOT ต่างๆ  Rasperi  Adrino  เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรใหม่ๆ   โดรนเพื่อการเกษตร      เป็นต้น  จะต่อยอดไปทางซ่อมโทรศัพท์  อุปกรณ์ IT ต่างๆก็ต่อยอดได้ดีเช่นกัน  ระบบ AI    ซ่อมและดูแลเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ  อุปกรณ์สื่อสารต่างๆ   สาขาอิเล็กรอนิกส์ต่อยอดไปซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าอุปกรณ์เทคโนโลยีได้ดี  งานช่างไฟฟ้ากำลังส่วนมากเป็นงานโปรเจครับเหมาทำเล่นไม่ค่อยได้    ส่วนงานอิเล็กทรอนิกส์สามารถนำมาทำเป็นงาน DIY  ต่างๆได้   เนื่องจากโรงงานอิเล็กทรอนิกส์และจำนวนบริษัทที่ทำงานเกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมและการสื่อสารในไทยค่อนข้างมีจำนวนจำกัดส่งผลให้งานของช่างอิเล็กทรอนิส์มีจำนวนจำกัดไปด้วย   ถ้าคนเรียนสาขาอิเล็กทรอนิกส์และอยากหางานง่ายให้เรียนเน้นหรือไปหาเรียนเสริมพวกวิชา  ไฟฟ้าคอนโทรล  PLC   เซนเซอร์  ซึ่งวิชาเหล่านี้โรงงานต้องการช่างที่มีทักษะด้านนี้เยอะเวลาทำงานที่หน้างานจริงๆเขาให้ดูแลเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติต่างๆมันจะมีงานปนกันทั้งงานส่วนที่เป็นงานไฟฟ้าคอนโครล และงานส่วนวงจรอิเล็กทรอนิกส์ช่างก็ต้องทำงานให้เป็นทั้งหมด  ถึงแม้โรงงานจะรับช่างเมนอิเล็กทรอนิกส์และเมนไฟฟ้ากำลังมาด้วยก็จริง  ถ้าเราทำงานได้หมดโอกาสหางานง่ายก็สูงขึ้นมาก อีกทั้งเรียนจบแล้วไม่ต้องกังวลเรื่องหางานเลยเพราะเรามีทักษะช่างที่โรงงานต้องการอยู่แล้ว   จึงแนะนำคนเรียนสาขาอิเล็กทรอนิกส์ถ้าเรียนเน้นหรือไปหาเรียนเสริมวิชาไฟฟ้าคอนโทรล  PLC  เซนเซอร์แบบต่างๆ  ก็จะหางานทำตามโรงงานอุตสาหกรรมได้ง่ายเนื่องจากตำเหน่งงานที่เกี่ยวกับไฟฟ้าคอนโทรล PLC  เซนเซอร์ มีตำเหน่งงานรองรับเยอะกว่างานวงจรอิเล็กทรอนิกส์มาก   ให้ดูรูปในตารางประกอบสาขาไฟฟ้ากำลังจะเน้นวิชาเมนของไฟฟ้ากำลัง  สาขาอิเล็กทรอนิกส์จะเน้นเรียนวิชาเมนของอิเล็กทรอนิกส์  ส่วนช่องตรงกลางสามารถเรียนได้ทั้งสาขาไฟฟ้ากำลังหรืออิเล็กทรอนิกส์เนื่องจากเป็นวิชาต่อยอดจากวิชาพื้นฐาน     นอกจากนี้ยังมีสาขาวิชาใหม่ๆที่เน้นเรียนเฉพาะด้านไปอีก เช่น สาขาวิชาระบบวัดคุม สาขาวิชาแมคคาทรอนิกส์ เป็นต้น

ให้เช็คความชอบความถนัดของตัวเอง   เทรนด์ของเทคโนโลยี   และปริมาณตำเหน่งงานในตลาด  รวมถึงงานที่อยากทำจริงๆเพื่อประกอบเป็นอาชีพในอนาคตด้วยมาเป็นเกณฑ์ในการเลือกสาขาที่จะเรียน  

 


ตอบคำถามการเรียนช่าง :  เรียนช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยากไหม   ?

คำตอบคือไม่ยากเกินไปและก็ไม่ง่าย  คิดว่าคนส่วนมากสามารถเรียนได้และก็สามารถเช็คตัวเองตอนนี้ได้เลยว่าชอบและเหมาะที่จะเรียนช่างไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ไหม  ?  การเรียนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทั้งในระดับ ปวช ปวส  ป.ตรีหรือวิศวะ  ต้องมีการนวณหาค่ากระแส แรงดัน ความต้านทาน  แก้สมการต่างๆ  เพื่อหาค่าของอุปกรณ์ต่างๆที่จะต้องใช้ในวงจร   ให้เช็คตัวเองว่าวิชาคณิต ฟิสิกส์และภาษาอังกฤษเรียนได้ดีระดับหนึ่งไหม  ?    การเรียนช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นั้นคณิตศาสตร์ต้องดีระดับหนึ่ง วิทยาศาสตร์ต้องดีระดับหนึ่งโดยเฉพาะวิชาฟิสิกส์เพราะเป็นพื้นฐานของช่างหรือวิศวะทุกสาขา ภาษาอังกฤษต้องใช้ในการอ่านตำราภาษาอังกฤษด้วยเพราะสาขาเทคโนโลยีต่างๆจะอ่านเพียงตำราภาษาไทยนั้นมันไม่เพียงพอ ตอนทำงานต้องอ่านคู่มือการทำงานของเครื่องซึ่งเป็นภาษาอังกฤษและอ่านสเปคของอุปกรณ์ต่างๆก็เป็นภาษาอังกฤษด้วยเช่นกัน  หลายครั้งการทำงานจริงๆต้องติดต่อกับต่างประเทศ ถ้าได้ทำงานกับบริษัทต่างชาติภาษาอังกฤษก็ยิ่งจำเป็นและสำคัญมากขึ้นไปอีก    


เรียนช่างอะไรดี  เรียนไฟฟ้ากำลังหรือเรียนอิเล็กทรอนิกส์

น้องๆที่เรียนระดับมัธยมปลายมีการเรียนวิชาฟิสิกส์ก็จะมีบทที่เป็นเรื่องไฟฟ้าอยู่หลายบทเรียนตรงนั้นให้แน่นและเรียนให้เข้าใจเพราะเป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก  สำหรับน้องๆที่เรียน ม.ต้น ก็ให้เน้นคณิตและวิทยาศาสตร์ให้เข้าใจเพราะนอกจากจะใช้เรียนต่อ ม.ปลายแล้วถ้าเรามีพืนฐานดีตั้งแต่ตอน ม.ต้นนี้ อนาคตเราก็จะเรียนได้ดีเพราะจากการสังเกตหลายๆวิชาที่เรียน มันจะเป็นวิชาต่อเนื่องกันถ้าเรียนวิชาพื้นฐานให้เข้าใจดีตั้งแต่เทอมแรกปีแรก การเรียนวิชาต่อเนื่องก็จะง่ายไปด้วย  ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเรียนเข้าใจเรื่องตรีโกณมิติดีก็จะทำให้เราเรียนวิชาไฟฟ้ากระแสสลับเข้าใจง่ายไปด้วยเนื่องจากในวิชาไฟฟ้ากระแสสลับจะมีเรื่องมุมเฟสทางไฟฟ้าและนำเรื่องมุมต่างๆนี้ไปแก้สมการทางไฟฟ้ากระแสสลับเยอะมาก  ถ้าเราเรียนเข้าใจเรื่องการแก้สมการในวิชาคณิตจะทำให้เราเรียนวิชาไฟฟ้ากระแสตรงหาค่าตัวแปรทางไฟฟ้าต่างๆ เช่น  V   I   R   เมื่อเรียนเข้าใจก็จะรู้สึกสนุกกับมันในการเรียนรู้บทต่อๆไป     สำหรับการเรียนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในระดับ  ป.ตรีนั้นจะมีวิชาคณิตศาสตร์ขั้นสูง  การแก้สมการทางไฟฟ้าและวิเคราะห์วงจรไฟฟ้านั้นก็จะใช้คณิตศาสตร์ขั้นสูง   แต่ไม่ต้องกังวลเพราะถ้าวิชาพื้นฐานเราดีระดับหนึ่งบวกกับตอนเรียนเราก็ตั้งใจเรียนมันจะช่วยเสริมกันให้เรียนได้ดีแน่นอน 


เลือกเรื่องถัดไปที่น่าสนใจอ่านต่อ  

เช่น  การวัดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์   มี  17 ตอน